เเนวโน้มการทำธุรกิจอาหารเเช่เเข็ง
ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร รายงานผลการสำรวจสถานการณ์ตลาดอาหารแปรรูปแช่แข็งในอาเซียน ที่จัดทำโดย Euromonitor International พบว่า จากการขยายตัวของเศรษฐกิจและสังคมเมืองทำให้ครัวเรือนประเทศในทวีปเอเชียมีเวลาปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านน้อยลง อาหารแปรรูปแช่แข็งจึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับครัวเรือน รวมทั้งร้านอาหารหรือภัตตาคารขนาดใหญ่ก็นิยมซื้อวัตถุดิบประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผัก เบเกอรีหรือขนมหวานสำเร็จรูปในลักษณะแช่แข็งมากขึ้น เพราะเก็บรักษาไว้ได้นานไม่เน่าเสีย ช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายของร้านด้านวัตถุดิบได้ดีกว่าซื้อของสด
สำหรับประเทศในอาเซียนที่ตลาดอาหารแปรรูปแช่แข็งมีแนวโน้มขยายตัวดี ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยในปี 2554 ฟิลิปปินส์มีมูลค่าตลาดสูงสุด 19,379.37 ล้านบาท รองลงมาคืออินโดนีเซีย 15,893.27 ล้านบาท มาเลเซีย 5,040.96 ล้านบาท และสิงคโปร์ 2,383.67 ล้านบาท โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทุกประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสูงสุดในกลุ่ม คือร้อยละ 15 ต่อปี ขณะที่ฟิลิปปินส์มีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.44 ต่อปี ส่วนมาเลเซียนั้นเติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ต่อปี โดยสิงคโปร์ถึงผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อสูงแต่ประชากรที่มีเพียง 5.35 ล้านคนทำให้มูลค่าตลาดค่อนข้างเล็ก มีอัตราเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 4.4 ต่อปี ทั้งนี้หากพิจารณาเชิงปริมาณจำหน่าย ฟิลิปปินส์ก็ยังเป็นประเทศที่มีการบริโภคอาหารแปรรูปแช่แข็งมากที่สุด โดยในปี 2554 มีปริมาณจำหน่ายรวม 166.6 พันตัน อินโดนีเซีย 60.95 พันตัน มาเลเซีย 41.18 พันตัน และสิงคโปร์ 9.93 พันตัน
ทั้งนี้ การเติบโตของตลาดอาหารแปรรูปแช่แข็งในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น มีผลมาจากการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกทำให้ช่องทางจัดจำหน่ายแบบควบคุมอุณหภูมิกระจายสู่ทุกหัวเมืองมากขึ้น อาหารแช่แข็งที่จำหน่ายมีความหลากหลายทั้งแบบดิบ ปรุงแต่งบางส่วน และสำเร็จรูป รวมทั้งขนาดบรรจุที่มีหลายไซส์ โดยในตลาดฟิลิปปินส์เนื้อสัตว์แปรรูปแช่แข็งเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคมากที่สุด ได้แก่ ฮอตดอก เบคอน แฮมเบอร์เกอร์ และไส้กรอกหมู เป็นต้น รองลงมาคืออาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง โดยสินค้าหลักจะเป็นกลุ่มปลาหมัก (marinated fish) ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นปลาหมึก นอกจากนี้ยังมีสินค้ากลุ่มเนื้อไก่แช่แข็ง แบ่งเป็นเนื้อไก่นักเกต ไส้กรอก ไก่บาร์บีคิว และไก่ชุบขนมปัง และจากกระแสความนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ จึงคาดว่าอาหารทะเลจะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มขยายตัวดีในอนาคต เพราะภาพลักษณ์เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพกว่าเนื้อแดง นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มมันฝรั่งแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป และพิซซาก็มีแนวโน้มเติบโตสูงเช่นกัน
ขณะที่อินโดนีเซียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีขนาดประชากรมากที่สุดในอาเซียน และตลาดอาหารแปรรูปแช่แข็งมีอัตราเติบโตที่สูงถึงร้อยละ 23 ในปี 2553 และร้อยละ 24.6 ในปี 2554 โดยสินค้ากลุ่มไก่แช่แข็งเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะนักเกตไก่สำหรับกลุ่มวัยรุ่น บริษัทผู้ผลิตอาหารแช่แข็งมีการผลิตนักเกตไก่รูปแบบต่างๆ มากมายทั้งรสชาติ รูปร่าง และส่วนผสมต่างๆ เช่น ชีส ผัก และเพื่อเอาใจลูกค้าวัยเด็ก ทั้งนี้ นักเกตไก่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ถึงร้อยละ 42 ของมูลค่าไก่แช่แข็ง รองลงมาคือ ไส้กรอกไก่ ไก่ชุบแป้ง และปีกไก่ปรุงรส สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ประมง ลูกชิ้นปลาได้รับความนิยมมากที่สุด มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 43 รองลงมาคือ fish fingers ชุบขนมปัง
ด้านตลาดมาเลเซียนั้น ไก่แช่แข็งเป็นอาหารกลุ่มที่นิยมมากที่สุดเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย คือมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 42 รองลงมาคือเนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารทะเลแช่แข็ง โดยสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งนั้นมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ และยังเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะขยายตัวมากที่สุดในช่วง 4 ปีต่อจากนี้ ในขณะที่กลุ่มเนื้อไก่ เนื้อสัตว์แช่แข็ง และมันฝรั่ง ตลาดมีแนวโน้มหดตัวลง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคมาเลเซียที่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น
สำหรับการขยายตัวของตลาดอาหารแปรรูปแช่แข็งในสิงคโปร์นั้นพบว่าอยู่ในระดับต่ำ คือประมาณร้อยละ 2 ทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า โดยเนื้อไก่แช่แข็งและอาหารทะเลแช่แข็งมีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกันคือร้อยละ 36 และ 34 ตามลำดับ รองลงมาคือเบเกอรี และเนื้อสัตว์แปรรูป การขยายตัวของตลาดอาหารแปรรูปแช่แข็งในสิงคโปร์มีแรงผลักดันมาจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะเบเกอรีและขนมหวาน และรสชาติที่แตกต่างเป็นหลัก ไส้กรอกไก่เป็นที่นิยมมากที่สุดของมูลค่าตลาดไก่แช่แข็ง รองลงมาคือนักเกต กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง เนื้อปลาแบบฟิลเลตมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด รองลงมาคือ fish finger ชุบขนมปัง และลูกชิ้นปลา ส่วนกลุ่มเนื้อสัตว์แช่แข็ง เบอร์เกอร์มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 91 ของมูลค่าตลาดเนื้อสัตว์แช่แข็ง
ที่มาผู้จัดการ
No comments:
Post a Comment