Popular Posts

Thursday, February 28, 2013

ลงทุนเปิดร้านขายน้ำพริก


ลงทุนเปิดร้านขายน้ำพริก

คุณพันตรี วิวัฒน์ วัย 41 ปีเศษ คือบุคคลที่ถูกเอ่ยถึงข้างต้น พื้นเพถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อาชีพหลักจากอดีตถึงปัจจุบัน คือวิ่งรถรับซื้อผลไม้ตามสวน ก่อนนำไปส่งให้กับโรงงานแปรรูป แต่เนื่องจากผลไม้มักจะออกเป็นฤดู เมื่อถึงช่วงเวลานอกฤดูที่ผลไม้ออก เขาจึงมีเวลาว่างพอสมควร เลยอยากมองหางานสุจริตทำที่นำมาซึ่งเม็ดเงินอีกทางหนึ่ง

“ราวกลางปีที่แล้ว ผมเดินทางจากสุราษฎร์ฯ เข้ากรุงเทพฯ มาสมัครเรียนกับทางศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน 2 วิชาด้วยกัน คือ พริกแกงเพื่อการค้า และน้ำพริกกระปุก สูตรครูตุ๊ก ที่เลือกเรียน 2 วิชานี้เป็นเพราะคิดว่า ทุกวันนี้คนไม่ค่อยตำพริกแกงทานกันแล้ว” คุณพันตรี เริ่มต้นอย่างนั้น ก่อนบอกด้วยว่า เมื่อมีวิชาติดตัว ครั้นกลับถึงบ้าน จึงคิดออกมาเป็นการค้าขายทันที

“ช่วงนั้นที่สุราษฎร์ฯ มีงานฟู้ดส์ แฟร์ พอดี ผมเลยตัดสินใจทำน้ำพริกออกมาขายในรูปแบบขายส่งให้พ่อค้าคนกลางรับไปขาย ซึ่งทำออกมาหลายอย่าง ทั้ง ตาแดง แมงดา ปลาย่าง” ศิษย์เก่าศูนย์อาชีพฯ เล่าให้ฟังและว่า ความจริงเขาตั้งใจจะทำพริกแกงออกขาย แต่จากการวิเคราะห์ตลาดตามประสบการณ์ของเขา เห็นว่าน้ำพริกกระปุกน่าจะขายออกได้ง่ายและเร็วกว่าพริกแกง จึงหันเหความตั้งใจในที่สุด
คุณพันตรี บอกต่อว่า เงินลงทุนสำหรับอาชีพที่สองของเขาในครั้งนี้ มียอดค่าใช้จ่ายหลายหมื่นบาท ส่วนใหญ่หมดไปกับค่าอุปกรณ์ในการทำ อย่าง เครื่องบดอะลูมิเนียมตัวหนึ่งก็เป็นหมื่นแล้ว สนทนามาถึงตรงนี้มีข้อสังเกตเหตุใดจึงกล้าลงทุนขนาดนั้น เพราะเพิ่งผ่านการเรียนรู้วิชาการทำน้ำพริกมาได้แค่ไม่กี่วัน เจ้าของคำตอบ ยิ้มกว้างก่อนบอกสั้นๆ ว่า

“พอมีเงินทุนอยู่บ้าง…จึงอยากลองดู”
ถามถึงทีมงานที่ช่วยกันปรุงน้ำพริกกระปุกออกขาย คุณพันตรี บอกว่า มีตัวเขาและแฟนเป็นหลัก นอกนั้นเป็นคนในครอบครัวอีก 2-3 คน ส่วนวิธีการขาย เขาไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง เนื่องจากอาชีพหลักต้องวิ่งรถรับซื้อผลไม้ตามฤดูกาล จึงใช้วิธี “ฝากขาย” ในร้านค้าประเภท ร้านขายของชำ ร้านขายกับข้าว ตามหมู่บ้านต่างๆ ในเขตอำเภอพระแสง และอำเภอใกล้เคียง คิดราคาขายส่งทุกชนิดกระปุกละ 15 บาท โดยร้านค้าจะขายต่ออีกทอดในราคา 20-25 บาท

“น้ำพริกกระปุกของผมใช้ชื่อยี่ห้อว่า ปักษ์ใต้ ฟู้ดส์ แอนด์ ดริงก์ เพราะตั้งใจว่าในอนาคตอาจมีสินค้าอาหารประเภทอื่นออกมาจำหน่ายอีก และคิดว่าจะไปหาความรู้จากศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน เหมือนเดิม” คุณพันตรี ว่าให้ฟัง

จุดเด่นแตกต่าง
ใช้วัตถุดิบเกรดเอ
นึกสงสัยจึงถามไถ่ว่ายากเย็นแค่ไหน กับการนำสินค้า “หน้าใหม่” ไปฝากขายตามร้านค้าต่างๆ คุณพันตรี จึงเล่าให้ฟังว่า อาชีพเสริมของเขานั้น อาจเริ่มต้นในช่วงที่เศรษฐกิจบ้านเมืองตกต่ำ ดังนั้น การนำน้ำพริกกระปุกออกขายในราคาไม่ถึง 20 บาท ก็ใช่ว่าจะขายได้ง่ายนัก เพราะมีหลายร้านปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ทุกวันนี้แม้แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปห่อละไม่ถึง 10 บาท ยังขายลำบากเลย
“ผมนำสินค้าไปฝากขายราว 50 ร้านค้า แต่มีปฏิเสธไม่รับไว้สัก 3-4 ร้านค้า ก็ถือว่าไม่เป็นไร อยู่ในเกณฑ์ที่พอใจรับได้ และช่วงออกมาแรกๆ ขอบอกเลยว่าขายดีมาก ผลิตสัปดาห์หนึ่งตกราว 100 กิโลกรัม เป็นอยู่อย่างนั้นหลายเดือน แต่ช่วงนี้คำสั่งซื้อเริ่มลดลงจึงผลิตออกมา แค่สัปดาห์ละ 2 วันคือเสาร์และอาทิตย์” คุณพันตรี บอกก่อนเผยด้วยว่า
“ลงทุนไป 50,000-60,000 บาท ขายไม่กี่เดือน คืนทุนแล้ว เพราะจนถึงทุกวันนี้วัตถุดิบที่ซื้อมาเก็บไว้ ยังมีใช้ได้อีกนาน และหากมีทีมงานมากพอในอนาคตอาจออกขายเองตามตลาดนัดรายรับน่าจะดีกว่านี้”
เกี่ยวกับคู่แข่งทางธุรกิจ ประเด็นนี้ คุณพันตรี บอกว่า มีคนทำน้ำพริกลักษณะคล้ายคลึงออกมาขายกันหลายเจ้า แต่ละรายจะมีจุดเด่น-จุดขายไม่เหมือนกัน ซึ่งน้ำพริกในแบบของเขานั้น เน้นการใช้วัตถุดิบจำพวก พริก หอม กระเทียม คุณภาพดีระดับเกรดเอ เนื่องจากอาชีพหลักของเขา คือการวิ่งรถรับซื้อผลไม้ตามสวน อาจได้เปรียบตรงรู้จักแหล่งซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพ นอกจากนั้นแล้ว น้ำพริกของเขาจะไม่แช่อยู่ในร้านนานเกิน 1 สัปดาห์ ต้องมีทีมงานขับรถนำสินค้าไปเปลี่ยนหมุนเวียนตลอด
เมื่อถามถึงอุปสรรคปัญหาในการทำอาชีพนี้ ศิษย์เก่าศูนย์อาชีพฯ ท่านนี้ มีข้อมูลมาถ่ายทอดให้ฟังว่า หลังจากได้สูตรจากการอบรมมาแล้ว เขาเปลี่ยนสัดส่วนบางตัว เพื่อให้รสชาติถูกปากคนท้องถิ่นซึ่งรับประทานเผ็ดกันเก่ง ปรากฏว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่เรื่องน่าหนักใจช่วงแรก เห็นจะได้แก่การเก็บรักษาวัตถุดิบ คือซื้อมะขามสดมาเก็บไว้ในตู้เย็นกว่า 200 กิโลกรัม ซึ่งเยอะเกินไป ใช้ไม่ทันกระทั่งขึ้นราหมด ต้องนำออกทิ้ง จึงโทรศัพท์ปรึกษากับ “ครูตุ๊ก” ปรากฏได้คำแนะนำที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ปัญหาจุกจิกจึงหมดไปแล้ว
“มติชน ก่อตั้งศูนย์อาชีพฯ นี้ขึ้นมา ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะได้ช่วยให้คนมีอาชีพ อย่างผม ซึ่งพอมีความรู้พื้นฐานด้านการทำอาหารอยู่บ้าง เมื่อได้ไปเข้าอบรมทำให้ได้รับความรู้อย่างละเอียดและเป็นระบบ กระทั่งเกิดความมั่นใจว่าสินค้าที่จะผลิตออกมาขายนั้นต้องมีคุณภาพระดับมืออาชีพ ขอให้ทีมงานทุกคนมุ่งมั่นทำหน้าที่นี้กันต่อไปนะครับ” คุณพันตรี ฝากทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น
หรือหากท่านใดสนใจน้ำพริกกระปุก “ปักษ์ใต้ ฟู้ดส์ แอนด์ ดริงก์” ผลงานของศิษย์เก่าศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน คนขยันท่านนี้ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ เลขที่ 12 หมู่ 2 ตำบลอิปัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84210 โทรศัพท์ (087) 265-5599
ที่มา http://www.thaismefranchise.com/?p=248

No comments:

Post a Comment